History

February 18, 2020 | Photo By : Gpi

กำเนิดสนามแข่งรถพัทยาเซอร์กิต

ในช่วงทศวรรษ ’80 ปี พ.ศ. 2523 เป็นการเริ่มต้นแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยใช้สนามบินเป็นสนามแข่งรถเฉพาะกิจ เราเริ่มต้นกันที่สนามบิน บน.2 จังหวัดลพบุรี วันที่ 3-4 พฤษภาคม และที่สนามบิน บน.6 ดอนเมือง วันที่ 5-7 ธันวาคม 2523 ในปีเดียว กันใช้ชื่อการแข่งขันว่า ไทยแลนด์กรังด์ปรีซ์ เป็นการแข่งขันเพื่อหารายได้สมทบทุนสร้าง โรงพยาบาลภูมิพล ในโครงการคุ้มเกล้า

การจัดแข่งขันทั้งสองครั้งได้รับความสำเร็จอย่างสูงมีแฟน ๆความเร็วให้ความสนใจ อย่างล้นหลามหลายหมื่นคนที่ลพบุรี ส่วนที่ดอนเมือง 3 วันมีผู้ซื้อบัตรเข้าชมกว่าแสนคน ปลุกกระแสกีฬามอเตอร์สปอร์ตให้เกิดความนิยมอย่างไม่เคยมีมาก่อนในรอบกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา นักแข่งรถในยุคนั้นมีไม่ถึงร้อยคนและส่วนใหญ่ก็เป็นมือแรลลี่จากยุค ’70 และ นักแข่งรถวิบากจากสนามเอเซียน่า พัทยา (เกิดขึ้นในปี 2519-2522) รถแข่งก็แต่งกันแบบ ไทย ๆจากค่ายโมดิฟายรถแข่งดัง ๆก็มี กุ่ย เซอร์วิส, เรซซิ่งก๊อง, ฮุย จูนนิ่ง, สุขุมโรตารี่, อ้น เซอร์วิส, อู่ดำเนิน BMW ฯลฯ

รุ่นการแข่งขันก็แบ่งออกเป็น รุ่นโชว์รูม, รุ่นเรซซิ่ง 1400cc, 1600cc โอเวอร์ 1600cc และ รุ่นโอเพ่น ถือเป็นรุ่นไฮไลท์สำคัญที่ไม่จำกัดการโมดิฟาย สนามแรกที่ลพบุรี เทียนชัย เตียวรัตนกุล รถแลนเซอร์ จากค่ายกุ่ย เซอร์วิส คว้าแชมป์ไปครอง สนามดอนเมือง ปรีชา ทรัพย์คง ควบ Toyota เครื่อง 16 วาล์ว คว้าแชมป์ไปอย่างขาดลอย

การแข่งขันต้องเว้นวรรคไปหนึ่งปี พ.ศ.2525 มีการแข่งขัน 2 ครั้ง วันที่ 26-27 กุมภาพันธ์ สนามบิน บน. 2 และวันที่ 6-7 พฤศจิกายน สนามศูนย์การบิน ทบ. ลพบุรี โดยบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมเป็นเมนสปอนเซอร์ ชื่อการแข่งขันก็เปลี่ยนเป็น “Shell Thailand Grand Prix” สร้างความเชื่อมั่นให้กับบรรดานักแข่งและทีมแข่งต่างก็ลง ทุนหาเครื่องยนต์และรถแข่งแรง ๆจากต่างประเทศมาสู้ศึกกันอย่างคึกคักทั้งรถเรซซิ่งและรุ่น โอเพ่น ค่ายรถญี่ปุ่นเครื่องยนต์ Toyota 16 วาล์ว, Twin Plug จาก TRD, Tom’s และ Nissan Tomei 16 วาล์ว, Mazda เครื่องยนต์โรตารี่, BMW แรงๆจากเยอรมันนี เราได้ เห็นพัฒนาการของรถแข่งคนไทยก้าวไปอีกระดับหนึ่ง

Shell Thailand Grand Prix แข่งต่อเนื่องมาอีก 3 ปีต่อมา พ.ศ. 2526 วันที่ 2-3 เมษายน, วันที่ 8-10 ธันวาคม, พ.ศ. 2527 วันที่ 9-10 มีนาคม ทั้ง 3 ครั้งแข่งที่สนามบิน บน.2 ลพบุรี ส่วนวันที่ 2-3 มิถุนายน แข่งที่สนามบิน ทร.สัตหีบ และปิดฉากสนามสุดท้าย วันที่ 29-30 มีนาคม พ.ศ. 2528 นับว่าเป็นการบุกเบิกแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สนามต่าง ๆยาวนานถึง 6 ปี สร้างความเชื่อถือให้กับนักแข่งและทีมแข่งอย่างเป็นปึกแผ่น

ค่ายกรังด์ปรีซ์ นำโดย คุณปราจิน เอี่ยมลำเนา พร้อมด้วยทีมงานผู้มีประสบการณ์จาก การจัดแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 24 ชั่วโมง สนามหัวหมากในปี 2518 และการแข่ง ขันหลากหลายประเภทตั้งแต่เริ่มเปิดนิตยสารกรังด์ปรีซ์ฉบับแรกในปี 1970 มุ่งมั่นจัดการ แข่งขันกีฬามอเตอร์สปอร์ตเป็นเวลาถึง 15 ปี ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอย่างเต็มรูปแบบด้วยปัจจัยดังกล่าวปลายปี พ.ศ. 2527 จึงริเริ่มโครงการสร้างสนามแข่งรถถาวรขึ้น โดยชักชวนพรรคพวก ร่วมกันลงทุนฝ่ายละ 5 ล้านบาท คุณปราจิน เอี่ยมลำเนา คุณชนัฎ เรืองกฤตยา คุณพิทักษ์ ปราดเปรื่อง รวมเป็นเงินก้อนแรก 15 ล้านบาท หาซื้อที่ดินที่เลือก ไว้มี 2 แห่ง แถวต่างระดับ บางปะอิน อยุธยา และแถวอำเภอบางละมุง ใกล้พัทยา ชลบุรี

เราก็ลงมติกันเลือกเอาที่ใกล้ พัทยาซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว และค่าก่อสร้างคงจะต่ำกว่าพื้น ที่ท้องนาแถวย่านบางปะอินตัวผม (ผู้เขียน) เกิดที่อำเภอบางละมุง ก็อาศัยคนพื้นที่ช่วยกันหาซื้อที่ดิน ในที่สุดก็มา ตกลงกับเจ้าของที่ดิน 12 แปลง โดยไม่มีนายหน้าติดต่อซื้อขายกันที่ว่าการอำเภอบางละมุงแต่มีอยู่ 1 แปลง (บริเวณสนามรถคาร์ทติดถนนซอย) 22 ไร่ เจ้าของไม่ยอมขายแต่พวกเรา ก็ไม่รอ….ผมก็พาคณะเดินทางไปทัวร์สนามแข่งรถ Brands Hatch  ที่อังกฤษ สนาม  Nurburgring ที่เยอรมัน สนาม Suzuka ที่ญี่ปุ่น และสนาม Shah Alam ที่มาเลเซีย พอได้ข้อมูลเบ็ดเสร็จ คุณชูศักดิ์ จามรมาน วิศวกร ผู้ออกแบบสนามแข่ง Pattaya Circuit ความ 2.41 กม.ที่เป็นอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้ เหตุเพราะซื้อที่ดินแปลง 22 ไร่ไม่ได้ จึงไม่มีทางเลือกเป็นอื่น ซึ่งแผนเดิมจะเป็นเซอร์กิตวิ่งรอบเนินเขาอยู่ตรงกลางมีคอนทัวร์สูง-ต่ำขึ้นเนินลงเนินแบบสนาม Brands Hatch หลังจากออกแบบเสร็จก็ลงมือก่อสร้างทันที ผ่านไปราว ๆ 6 เดือน คุณโสภณ เพ็ชรตระกูล (นายกเมืองพัทยา ในขณะนั้น) ไปช่วยต่อรองจนเจ้าของที่ดินแปลง 22 ไร่ยอมขายให้ สนามพัทยา เซอร์กิต จึงมีพื้นที่รวม 186 ไร่การก่อสร้างสนามแข่งรถมาตรฐานสากลเพื่อจะให้ได้ตามสเปค FIA ไม่ง่ายอย่างที่คิดหลังจากเราได้ยื่นแบบ Master Plan ผังสนามแข่งผ่านให้ทาง ร.ย.ส.ท. ส่งไปยัง FIA อนุมัติแบบแล้ว Mr John Corsmith ประธานเซฟตี้เซอร์กิตเดินทางมาตรวจงานด้วยตนเองเป็นงานละเอียดอ่อนที่เราต้องแก้ทั้งแบบและการก่อสร้างกันครั้งใหญ่ เงินทุนที่เตรียมไว้ว่าจะ สร้างสนามธรรมดา ๆเอาแต่ track ทางแข่ง ส่วนอื่นก็จะกางเต๊นท์เอาแบบแข่งตามสนามบินครานี้งานเข้าต้องสร้าง control tower, pit-paddock ฯลฯ เราต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน และธนาคารอีกกว่า 50ล้าน

อุปสรรคการก่อสร้างก็เกิดปัญหาล่าช้าเนื่องมาจากพื้นแทร็กสุดทางตรงลงเขาพื้นล่าง เป็นหินใหญ่ต้องใช้ระเบิดหินวุ่นวายกันเป็นเดือนๆและอีกส่วนก็บริเวณโค้ง 100 R เป็นพื้น ที่ต่ำสุดของสนามระบบ drain ท่อน้ำไหลจากที่สูงบนพื้นแทร็กด้านบนไหลมารวมก้นเกิด การยุบตัวขึ้นต้องแก้แล้วแก้อีกหลายครั้งในช่วงการก่อสร้างฤดูฝน ใช้เวลาก่อสร้างอยู่เป็นปี พอลาดยางพื้นแทร็กเสร็จ Mr. John Corsmith คนเดิมมาตรวจเพื่อจะรับรองเป็นสนาม  มาตรฐานสากล FIA Grade 3 ไม่ผ่านครับ !!! ต้องลาดยางกันใหม่อีกชั้นทับลงไปหนา 6 ชม. ตลอด 2.41 กม. เนื่องจากตรวจพบว่าใช้หินแกรนิตผิดสเปคมีหินผุบนอยู่บางส่วน…..

กว่าเป็นสนาม Pattaya Circuit สนามแข่งรถถาวรมาตรฐานสากล FIA เกรด 3 แห่งแรกของประเทศไทยได้ ยังต้องมีพื้นที่รันออฟและกำแพงปูนแบริเอ่อร์รอบแทร็ก จุด MP และทางเข้าออกกู้ภัย รั้งกันส่วนต่าง ๆของคนดู และงานสร้างอัฒจรรย์ ทุกอย่างมันงอก เงยตามมาโดยที่ไม่มีอยู่ในแผนการก่อสร้างตั้งแต่ต้น การแข่งขันที่กำหนดไว้จะแข่งกลางปี พ.ศ. 2528 เพื่อให้ต่อเนื่องจากงาน Shell Thailand Grand Prix สนามสุดท้าย มีนาคม เป็นอันต้องเลื่อนไปเป็นต้นปี พ.ศ. 2529….

ติดตามตอนต่อไปครับ

Share this News

Related news