History

March 2, 2020 | Photo By : Gpi

รอบปฐมฤกษ์ “พัทยาเซอร์กิต” พ.ศ. 2529

Pattaya Circuit เกิดขึ้นในยุคกลางทศวรรษ 80s ในช่วงที่ The Palace ดิสโก้เธค  อันดับ 1 ของเมืองไทย สถานที่เที่ยวยอดนิยมของหนุ่มสาวขาโจ๋ที่หลายคนพูดถึงอยู่ในความทรงจำของนักแข่ง “รถซิ่ง” สายเฟี้ยวถนนวิภาวดีรังสิต ด้านหน้าเดอะพาเลซเป็นจุดสตาร์ท แล้วไปยูเทิร์นกลับรถหน้าเซนต์จอห์น วนขวากลับมาใส่กันยาว ๆ จนถึงใต้สะพานลอยแยกสุทธิสาร ยูเทิร์นกลับมาหน้าเดอะพาเลซเป็นสังเวียน“วิภาวดีเซอร์กิต” หลังเธคเลิกศุกร์เสาร์

การแข่งขันครั้งแรกของพัทยาเซอร์กิต (Solf opening) วันที่ 11-12 มกราคม พ.ศ. 2529 เพื่อเป็นการทดสอบความพร้อมของสนาม กรรมการ นักแข่ง และทีมงาน ซึ่งก่อนการแข่งขัน ในเดือนธันวาคม เราก็มีการประชุมชี้แจงการใช้สนาม เข้า-ออก Pit Paddock ทางอุโมงค์ ผู้ถือบัตรสมาชิกเท่านั้นจึงจะมีสิทธ์ผ่านได้ ซึ่งก็หมายถึงนักแข่งและผู้มีบัตรที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันเท่านั้นเพื่อจำกัดจำนวนคนที่จะเข้ามาภายในสนามด้านในซึ่งไม่ใช่เป็นสถานที่ ของคนดูทั่วไป แม้เราจะควบคุมอย่างเคร่งครัดเพียงใด แต่นิสัยคนไทย “ขาใหญ่” อ้างสิทธ์ ใช้เส้นเบ่งเข้ามาภายในจนได้ บางรายไม่พอใจผ่านเข้ามาทางอุโมงค์ไม่ได้ก็แจก “กล้วย” ให้พี่อ๊อด ภิญโญ ทองเจือ ผอ.การตลาด เป็นผู้ควบคุมส่วนนี้ของสนาม ความโกลาหลวุ่นวาย  เกิดขึ้นเกือบทุกจุดโดยเฉพาะบริเวณหน้า Pit ซึ่งมีกรรมการยืนเรียงรายพร้อมเป่านกหวีดกันจนคอแห้งก็เอาไม่อยู่

เรื่องราวของคนดูหรือแฟนๆ กีฬาความเร็วในการแข่งรอบปฐมฤกษ์ครั้งนี้กลายเป็นเรื่อง  ทอล์คออฟเดอะทาวน์ จากทุกสารทิศถนนทุกสายมุ่งสู่พัทยา จากกรุงเทพ ชลบุรี ศรีราชา มาได้ทางเดียวถนนสุขุมวิททางหลวงหมายเลข 3 เลี้ยวซ้ายเข้าสาย 36 ระยะทาง 14 กม.จากแยกกระทิงลายถึงสนาม ผู้ชมที่มาจากภาคตะวันออก ตราด จันทบุรี ถึงระยอง เลี้ยวขวาเข้าสาย 36 ระยะทาง 35 กม.ถึงสนาม จากสัตหีบ พัทยา ก็ต้องมาเลี้ยวขวาเข้าสาย 36 ในวันอาทิตย์ ที่ 12 มกราคม เกิดปรากฎการณ์ที่คาดไม่ถึงและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน…..

รถติดกันยาวเหยีอด จากหน้าสนามพัทยาหางแถวถึงศรีราชา ถนนหน้าทางเข้าเมืองพัทยาติดขัดหมด รถที่มาจากตะวันออกจากหน้าสนามติดตลอดสายถึงระยอง !!! เราเก็บบัตร เข้าชมคนละ 100 บาท เด็ก 50 บาท บัตรจอดรถ 20 บาท ผู้คนหลายหมื่นคนแห่แหนกันเข้า สนามเกิดความโกลาหลขึ้นทุกจุดด้านการจราจรและที่จอดรถไม่เพียงพอ ความไม่พร้อมและ ห้องน้ำ อาหาร เครื่องดื่ม ไม่เพียงพอ การจัดการของสนามไม่ดีถูกด่าเละ  อัฒจรรย์ก็ยังสร้างไม่เสร็จรวมทั้งส่วนอื่น ๆ ภายในสนาม run off area เป็นดินยังไม่ได้ปลูกหญ้า เวลารถแข่งหลุดตก track แต่ละครั้งฝุ่นท่วมยังกับแข่งแรลลี่ยังไงยังงั้น……..

 

การแข่งขันก็จัดแนวเดียวต่อเนื่องจากสนามบินปีสุดท้าย 2528 โดยมีการแข่งจักรยานยนต์ในครึ่งวันภาคเช้าทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์ ภาคบ่ายเป็นการแข่งรถยนต์มี 5 ประเภท คือ

1.รุ่นโชว์รูม
กติกากำหนดต้องเป็นรถยนต์ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 200 คัน เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สนับสนุนทีมเข้าแข่งขัน Toyota Team Thailand, ทีมสยามกลการ (Nissan), ทีมยนตรกิจมอเตอร์สปอร์ต (BMW, Peugeot), ทีมนิวเอร่า (Ford) และนักแข่งที่ไม่สังกัดทีมจากค่ายแต่งรถเกือบทุกค่ายเนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ารถประเภทอื่น แบ่งเป็นรุ่น 1,300cc, 1,600cc และเกิน 1,600cc นักแข่งก็แบ่งเกรด A-B

2.รุ่นโรดคาร์
รุ่นนี้เราเรียกกันว่า “วัยรุ่นรถซิ่ง” ที่คุณเกรียงไกร ลิ้มนันทรักษ์ นักแข่งชั้นนำในยุคนั้นไปดึงกลุ่มเด็กซิ่งหน้าพาเลซมาเข้าสนามโดยห้ามนักแข่งระดับ A-B ลงแข่ง ห้ามใช้ยาง slick แบ่งเป็นรุ่น 1,600cc. และ over 1,600cc. เป็นเวทีแจ้งเกิดของนักแข่งหน้าใหม่แต่ก็ประสบเรื่องกติกาเพื่อความปลอดภัยเนื่องจากรถยนต์ส่วนใหญ่ไม่มีโรลบาร์ก็ไม่อนุญาตให้ร่วมแข่งขัน

3.รุ่นสต๊อกคาร์
กติการุ่นนี้เกิดจากแนวคิดของอาจารย์ศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข เพื่อเปิดโอกาสให้อู่เล็ก ๆ หรือผู้มีใจรักกีฬาแข่งรถที่ใช้ต้นทุนที่ต่ำสุดเรียกกันว่า “รุ่นเซียงกง” ตัวรถ เครื่องยนต์อะไรก็ได้ไม่เกิน 4 สูบ 8 วาล์ว คาร์บูเรเตอร์ 40 มม. ห้าม dry sump ใช้ยาง slick เนื้อแข็งที่วิ่งได้ 500 กม. เพื่อเน้นประหยัดยางชุดเดียว วิ่งได้เป็นปี

4.รุ่นโอเพ่น
รถประเภทนี้เขียนกติกาแค่ 4 บรรทัดเป็นลักษณะรถแข่งล้อปิด (Group C) ห้ามรถล้อเปิด ประเภทฟอร์มูล่า มีรถแข่งอยู่ 3 คัน Mazda C2 สองคัน ของ พนม หนูไพโรจน์, และของปรีชา ทรัพย์คง, Toyota March ของสุทธิพงศ์ สมิตชาติ และมีรถแข่งรุ่น อื่น ๆ มาเสริมอีกหลายคัน

5.รุ่นกรังด์ปรีซ์ (ฟ้าคำราม)
ถือเป็นรุ่นไฮไลท์ที่บรรดาแฟนๆ วงการความเร็วติดตามกันมากที่สุด ชื่อเดิมตอนแข่งสนามบินเราเรียกกันว่า รุ่นเรซซิ่ง พอมาถึงยุคสนามพัทยาก็เปลี่ยนเป็นรุ่น Grand Prix หรือชื่อ แบบไทย ๆว่า “ฟ้าคำราม” เพื่อให้เป็นที่จดจำโดยแนวคิดผสมผสานของคนไทยในการสร้างรถแข่งแบบ กรงไก่ (Space Frame) ที่สร้างตัวรถด้วยท่อแป๊บเหล็กเหนียว เช่น เบอร์ 11 BMW รหัส NY291 ของ มงคล เสถียรถิระกุล, (NY ย่อมาจาก Nong Yai ตัวเลข 291 หมายถึงปี 29 คันที่ 1) เบอร์ 29 Toyota ของ ปรีชา ทรัพย์คง รหัส Preecha 2/29 และ Mazda RX7 โรตารี่ เบอร์ 57 ที่สร้าง space frame อิมปอร์ตทั้งคันจากญี่ปุ่นของ พนม  หนูไพโรจน์ เป็นต้น

มาดูภายในสนามก็แน่นขนัดยังกับเล้าหมู เพราะควบคุมคนไม่มีบัตรไม่ไหว โฆษกสนาม พี่แดง พงษ์เทพ อุ่นพิกุล นอกจากจะพากย์รถกำลังแข่งอยู่ก็ต้องมาคอยประกาศให้เลื่อนรถทั้งวันมันสับสนวุ่ยวายไปทุกเรื่อง คุณโสภณ เพ็ชรตระกูล นายกเมืองพัทยา เป็นประธานเปิดการแข่งขัน ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ที่สนามแข่งรถพัทยาสามารถดึงดูดคนมาเที่ยวเมืองพัทยาได้มากมายเป็นประวัติการขนาดนี้ คนดูก็สนุกเร้าใจกับเกมการแข่งขันครั้งนี้โดยเฉพาะรุ่นไฮไลท์กรังด์ปรีซ์ (ฟ้าคำราม) 50 รอบ มีรถแข่งเต็ม grid 24 คัน แต่คู่หน้าเป็นการดวลกันระหว่าง ตี๋ หนองใหญ่ มงคล เสถียรถิระกุล BMW #11 ดวลกับนักแข่งมืออาชีพจากทีมโรงงานญี่ปุ่น เคนจิ โตฮิร่า ซุ่มเงียบส่ง Nissan Silvia เทอร์โบ สุดทางตรงลงเขาถอนคันเร่งแต่ละรอบไฟแลบยาวเป็นวาจากปลายท่อไอเสีย ติดตาตรึงใจคนดูที่อยู่ปลายทางตรงบนเขาส่งเสียงอื้ออึง จากรอบแรกจนจบการแข่งขันผลการแข่งขันเป็นไปตามคาด Silvia เบอร์ 39 เข้าวินเป็นคันแรก อันดับ 2 เบอร์ 11 BMW มงคล เสถียรถิระกุล อันดับ 3 เบอร์ 9 Toyota เกรียงไกร ลิ้มนันทรักษ์

Share this News