History

March 18, 2020 | Photo By : Gpi

สนามแข่งพัทยาในสายตาคนญี่ปุ่น

การแข่งขันรอบเก็บคะแนนชิงแชมป์ประเทศไทย สนามที่  2 วันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2529 พนม หนูไพโรจน์ นำเพื่อนนักแข่งมืออาชีพจากญี่ปุ่น Taku Akaike อิมพอร์ทรถแข่ง 3 คัน Mazda RX7, Mazda Group C และรถ Formula 2 การแข่งครั้งนี้นิตยสารอันดับ 1 ของญี่ปุ่น Auto Sport ที่มียอดจำหน่ายสูงถึง 350,000 ฉบับ/เดือน ติดตามมาทำข่าวลงเรื่องราวไว้ฉบับที่ 442 เดือนเมษายน 1986 แปลเป็นภาษาไทยลงในนิตยสารกรังด์ปรีซ์ฉบับที่ 1986/5 โดย ประเสริฐ อภิปุญญา เรามาย้อนดูกันครับว่าคนญี่ปุ่นมองสนามพัทยาอย่างไร….

(P12) ประเทศไทยหรือที่เรียกกันในอดีตว่า “สยาม” นั้น นับได้ว่ารถยนต์เป็นสิ่งที่มีราคาแพงมาก (เช่น Mazda RX7 มูลค่าประมาณ 10 ล้านเยน หรือประมาณ 1 ล้านบาทไทย) กีฬาแข่งรถจึงถือได้ว่าเป็นกีฬาชั้นสูงสำหรับคนรวย แต่ก็มีผู้สนใจเป็นจำนวนมากโดยที่สังเกตจากการแข่งขันที่จัดขึ้นแต่ละครั้งจะมีผู้คนล้นหลาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมของชาวไทยที่มีต่อกีฬาประเภทนี้ แม้ว่าเทคโนโลยี่เกี่ยวกับรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนารถยนต์ หรือการโมดิฟายเครื่องยนต์ยังล้าหลังอยู่ แต่บรรดาทีมแข่งต่าง ๆ ก็พยายามนำรถยนต์ที่มีสมรรถนะสูง ๆ จากยุโรปและญี่ปุ่นเข้ามาช่วงชิงความเป็นหนึ่ง

เมื่อต้นปีนี้เองการก่อสร้างสนามมาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทยที่พัทยาได้เสร็จสิ้นลง (มีความยาว 2.4 กม.) และในวันที่ 9 ก.พ. ก็ได้มีการแข่งขันไทยแลนด์กรังด์ปรีซ์ขึ้น ซึ่งมีการแข่งขันประเภทต่าง ๆทั้งสิ้น 13 ประเภท ซึ่งในแต่ละรุ่นแต่ละทีมได้เตรียมรถของตนมาแข่งกันอย่างเต็มที่ และจากการแข่งขันแต่ละครั้งที่ผ่านไป ทำให้นักแข่ง พี่เลี้ยง และกรรมการ มีความพร้อมเพรียงมากขึ้น


จุดหมายแรกก็คือ “ญี่ปุ่น” ซึ่งทุกคนก็พยายามไล่ตามให้ทันและเราเชื่อว่าวันใดวันหนึ่งหากไม่เป็นความฝันที่ห่างไกลเกินไปอาจจะมีการแข่งขัน F1 ที่ประเทศไทยก่อนประเทศญี่ปุ่น ชาวญึ่ปุ่นทั้งหลาย เราจะรอช้าต่อไปไม่ได้อีกแล้ว

ข่าวการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบในประเทศไทย

การแข่งขันรถยนต์ทางเรียบแบ่งเป็น รุ่นโชว์รูม ซึ่งจำกัดการโมดิฟายเฉพาะช่วงล่างแบ่งเป็นรุ่นซีเนียร์และจูเนียร์ โดยแบ่งที่อายุ (อายุไม่เกิน 25 ปีจูเนียร์) ไม่มีการจำกัดปริมาตรกระบอกสูบ รถที่เป็นตัวเต็งได้แก่ BMW 318 โตโยต้า AE-82, นิสสัน Bluebird, มิตซูบิชิ Lancer และมาสด้า Familia 323 ผลการควอลิฟายปรากฏว่าแถวหน้าถูกจับจองโดย BMW จากรถที่เข้าแข่งทั้งหมด 10-15 คัน แถวหน้าสุดกับแถวหลังสุดมีความแตกต่างด้านเวลาต่อรอบ (Lap Time) ถึง 10 วินาที ทำให้เห็นได้ถึงความแตกต่างด้านความสามารถ

รายการเอกก็คือ รถแข่งกรุ๊ป 5 ในอดีต (รุ่นเรซซิ่ง) โดยแบ่งเป็นรุ่น 1600 ซีซี และโอเวอร์ 1600 ซีซี
รุ่นไม่เกิน 1600 ซีซี มี TE-71, KP-61, B-420, AE-86, EP-71 ตัวเต็งก็คือ EP-71 และ AE-86 ซึ่งโมดิฟายภายใต้ชุดแต่งเหมือนที่ใช้กันอยู่ที่ญี่ปุ่นซึ่งเจ้าของรถคือ Toyota Team Thailand  นักแข่งคือ สุทธิพงศ์ สมิตชาติ เราอาจจะเคยได้ยินชื่อนี้ในการแข่งขันมาราธอนที่ญี่ปุ่นมาแล้ว ส่วนรุ่นโอเวอร์ 1600ซีซี ตัวเต็งได้แต่ Taku  รถมาสด้า 825 (RX7) เป็นรถคันเดียวกับที่เคยแข่งที่สนามฟูจิมาแล้ว และ BMW E-30 ที่วางเครื่องยนต์  M12/7 รถแข่งคันอื่น ๆ ส่วนใหญ่ใช้รถคันเดียวกันแข่งทั่งรุ่น 1600 ซ๊ซี และโอเวอร์ 1600 ซีซี
นอกจากนี้ยังมีการแข่งรถบรรทุกขนาดเล็ก แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ปิกอัพ และ กระป๊อ การแข่งครั้งนี้รถปิกอัพถูกยกเลิกไปเนื่องจากรถมีจำนวนน้อย รุ่นกระป๊อมีรถแข่ง 15 คัน ทั้งหมดเป็นรถ ไดฮัทสุ โดยมีการติดตั้งโรลบาร์และสปอยเล่อร์  เครื่องยนต์ใช้คาบิวคู่
ในอนาคตอันใกล้คงจะมีการแข่งขัน Formula Thailand รถแข่งที่ใช้คือตัวถัง FJ 1600 ที่แข่งขันกันในญึ่ปุ่น โดยวางเครื่องยนต์อะไรก็ได้ไม่เกิน 1600 ซีซี รายละเอียดอื่น ๆนั้นเรายังไม่ทราบเพราะยังไม่ได้รับการแจ้งมา ยางที่ใช้อนุญาตให้เป็นยางเรเดียลที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งอาจจะพิจารณาถึงสภาพ สนามและสภาพยางแล้ว คาดได้ว่าจะเป็นรุ่นที่มีความสนุกสนามไม่แพ้รุ่นอื่น ปัจจุบันมีรถประเภท FJ เข้ามาอยู่ในไทยแล้ว 7-8 คัน มีสิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งว่า ในช่วงเวลาอันใกล้อาจมีการแข่งขันรถยนต์ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน

ใบขับขี่และการสมัคร

การแข่งขันจำเป็นต้องมีใบขับขี่ซึ่งอนุญาตโดย  RAAT รวมถึงการสมัครสมาชิกสโมสร พัทยาเซอร์กิต เรซซิ่งคลับ เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1,800 บาท (¥14,000) ค่าสมัครแตกต่างกันไปตามรุ่น กระป๊อ 1,000 บาท (¥8,000) โชว์รูม 1,500 บาท (¥12,000) เรซซิ่ง 2,800 บาท (¥22,400) ซึ่งเราคิดว่าอัตรานี้ค่อนข้างถูกมาก แต่เมื่อคำนึงถึงค่าดูเก็บคนละ 100 บาท โดยมีเงินเดือนช่างเดือนละ 1,000 บาท ก็นับได้ว่าแพงเอาเรื่อง การซ้อม ถ้าเราจะสมัครเข้าร่วมแข่งขันก็ต้องขยันซ้อม สำหรับการซ้อมนั้นเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนต้องติดต่อล่วงหน้า ยิ่งถ้าเป็นสมาชิกพัทยาเซอร์กิต เรซซิ่งคลับ การติดต่อก็ง่ายขึ้น โทรศัพท์จองเวลาก็ลงไปวิ่งได้เลย แต่ต้องคำนึงถึงอย่างหนึ่งว่าไม่มีรถพยาบาลและกรรมการในสนามต้องระวังตัวกันเอง

พัทยา เซอร์กิต (P34-35)
หลังจากที่ได้รับทราบข่าวการแข่งขันไปแล้ว ผู้อ่านหลายท่านอาจจะมีความรู้สึกอยากลงไปขับดู ดังนั้นเราจึงได้ส่งผู้แทนของเราลงไปทดสอบสนาม อนึ่งเวลาต่อรอบของรถยนต์กรุ๊ป 5 ที่ดีที่สุด (จากการควอลิฟาย) 1 นาที 10 วินาที 08 (ระหว่างการแข่งขัน) 1 นาที 08 วินาที

จากการยุยงของ Taku ผมจึงได้ลงไปลองขับดู ความจริงผมอยากขับรถประเภทซาลูนมากกว่า แต่คุณพนม หนูไพโรจน์ เพื่อนรักของ Taku ไม่มีรถดังกล่าวให้เลย มีแต่ F2 (March 802/BMW) ที่พร้อมอยู่ในขณะนี้ ผมจึงได้มีโอกาสไปลองขับดูหลังจากที่คุณพนม ลงไปลองขับก่อน 5 รอบ ภายใต้สายตาผู้ชมกว่า 30,000 คน ผมใช้เกียร์ 1 เริ่งรอบให้ขึ้นถึง 6,000 รอบ แล้วค่อยๆผ่อนครัตช์โดยตั้งใจไม่ได้เครื่องดับเด็ดขาด (อายเขา) จาก Pit เข้าสู่สนามโค้งแรกเป็นทางลาดลง (50R) ต่อจากนั้นเป็น 30R ช่วงจาก 30R เป็นต้นไปเป็นเนินลงเขา ระยะทางประมาณ 200 เมตร มีความแตกต่างจากจุดที่สูงที่สุดถึงจุดที่ต่ำที่สุดประมาณ 15 เมตร นอกจากนี้ โค้ง C3 เป็นโค้งที่ประกอบไปด้วย 30R/33R (เกือบ U-turn) จากนี้ก็เป็นทางลาดลง C4 เป็นโค้ง 26R (ประมาณ 120 องศา) เป็นโค้งที่น่ากลัวเพราะมีความเร็วสูง ถ้าหลุดออกไปมีหวังชนกำแพงแน่ ๆ C5 เป็นโค้ง 48R ช่วงนี้ก็ยังคงเป็นเนินลาดลงไปจนถึง C6 (100R) ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของสนามแห่งนี้ ช่วงระหว่าง C3 – C6 ให้ความรู้สึกเหมือนโค้ง 300R ของสนาม Fuji หรือโค้ง 2 ของสนาม Sugo ซึ่งเป็นโค้งที่อันตรายที่สุด จากลอดใต้ยาง IRC แล้วจะพบ S ตัวแรก ถัดไปอีก 200 เมตร จะเป็น S ตัวที่สอง ซึ่งได้ความรู้สึกสนุกสนานเพราะเป็นโค้งที่ต้องใช้เทคนิคพอสมควร พื้นสนามเทียบได้กับในญี่ปุ่นแต่รู้สึกจะลื่นกว่า และในโค้ง C11 นี่เอง ผมก็ได้บทเรียนราคาแพง ผมลดความเร็วลงแล้วใช้เกียร์ 2 หักพวงมาลัยอย่างมั่นใจ ปรากฏว่ารถมีอาการท้ายเริ่มเป๋ในที่สุดรถก็หมุนจนได้ (อายจัง) แต่ยังไงเครื่องก็ยังไม่ดับนะครับ แต่พอตอนจะออกรถ ผมออกเครื่องดับ ต้องควักมือเรียกกรรมการมาช่วยเข็นเพราะสตาร์ทไม่ติด (ผมมีความรู้สึกถูกหัวเราะเยอะจากคนดูทั่วสนาม) หลังจากนั้นผมก็วิ่งอีกประมาณ 4 รอบ สรุปได้ง่าย ๆว่า ทุกโค้งเข้าช้าออกเร็ว ผมไม่ค่อยกล้าอัดเต็มที่นอกจากทางตรงแถมยางก็ไม่ค่อยเกาะ (กลัวจัง)

โดยทั่วไปสนามนี้มีโค้งอับอยู่หลายโค้ง และมีพื้นที่ให้หลุดน้อยไปหน่อย แต่ลักษณะรูปสนามนั้นให้ความสนุกสนานไม่เบา เหมาะสำหรับรถยนต์รุ่นโชว์รูมและรถ Super Saloon มาก และได้รับรายงานมาว่าในอนาคตมีแผนการจะเพิ่มความยาวเป็น 4 กม. และเป็นที่คาดหวังได้ว่าสนามนี้จะเป็นสนามอินเตอร์เนชั่นแนลที่ดีที่สุดในกลุ่มประเทศ ASEAN อย่างแน่นอน และถ้าผมมีโอกาสกลับมาใหม่ ผมอาจจะมาแข่งรุ่นโชว์รูมกับเขาบ้าง แต่ผมว่าอย่าดีกว่า เพราะว่า…นักแข่งทุกคนเร็วจังเลย/.(จบคำแปล)

ผลการแข่งขัน รุ่นกรังด์ปรีซ์ (เรซซิ่งโอเวอร์ 1600cc.)

ฮีท 1
อันดับ 1 เบอร์ 34 ทากุ อะไคอิเค Mazda RX7
อันดับ 2 เบอร์ 11 มงคล เสถียรถิระกุล BMW E-30
อันดับ 3 เบอร์ 29 ปรีชา ทรัพย์คง Toyota Corolla

ฮีท 2
อันดับ 1 เบอร์ 11 มงคล เสถียรถิระกุล BMW E-30
อันดับ 2 เบอร์ 34 ทากุ อะไคอิเค Mazda RX7
อันดับ 3 เบอร์ 29 ปรีชา ทรัพย์คง Toyota Corolla

รุ่นโชว์รูม ฮีท 1
อันดับ 1 เบอร์ 7 ฐิติ เกิดรพ BMW 318
อันดับ 2 เบอร์ 2 เปง หวัน หล่ง BMW 318
อันดับ 3 เบอร์ 71 ขจรศักดิ์ ศักดิ์ศิริเวชกุล BMW 318

รุ่นโชว์รูม ฮีท 2
อันดับ 1 เบอร์ 7 ฐิติ เกิดรพ BMW 318
อันดับ 2 เบอร์ 71 ขจรศักดิ์ ศักดิ์ศิริเวชกุล BMW 318
อันดับ 3 เบอร์ 2 เปง หวัน หล่ง BMW 318

Share this News

Related news

Promotion Lap Points Card

January 15, 2018

ROK CUP 2018

February 1, 2018